หลักคำสอนที่สนับสนุนความจริงดังกล่าวนี้ คือ หลักคำสอนเรื่อ ศรัทธาและปัญญา
ศรัทธา คือ ความเชื่อ ศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาหรือเหตุผล ซึ่งเรียกว่า ศรัทธาเพื่อปัญญา แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงสอนให้คนมีศรัทธา แต่ศรัทธาของพระองค์นั้นต้องผ่านการพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาให้รอบคอบเสียก่อน ดังที่ ทรงสอนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคม ในแคว้นโกศล ว่า
อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ เพียงเพราะฟังตามๆกันมา เพียงเพราะถือปฏิบัติกันสืบๆมา เพียงเพราะข่าวเล่าลือ เพียงเพราะการอ่านตำราหรือคัมภีร์ เพียงเพราะการให้เหตุผลแบบตรรกะ เพียงเพราะการอนุมานเอาตามอาการที่ปรากฏ เพียงเพราะเห็นว่าเข้ากันได้ตรงตามทฤษฎีหรือความคิดเห็นของตน เพียงเพราะเห็นว่ามีรูปลักษณะน่าเชื่อถือ และเพียงเพราะถือว่าสมณะหรือนักบวชผู้นี้เป็นครูของเรา
แต่เมื่อใดได้ใช้ปัญญาพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว และเห็นว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้น ไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน อีกทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน ก็จงทำสิ่งนั้น แต่หากสิ่งใดเมื่อทำลงไปแล้วตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน นักปราชญ์ติเตียน ก็จงอย่าได้ทำสิ่งนั้นเลย
หลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นมีข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ หากทรงสอนเรื่องศรัทธาไว้ในที่ใด ก็จะทรงสอนปัญญากำกับไว้ในที่นั้นด้วย นั่นก็หมายความว่า ทรงสอนให้ใช้ศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาเสมอไป
ตัวอย่างเช่น ในหลักคำสอนหมวด พละ 5 ( ธรรมอันเป็นกำลัง ) ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา หรือใน อริยทรัพย์ 7 ( ทรัพย์ภายในอันประเสริฐ ) ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พหุสัจจะ จาคะ และปัญญา
จะเห็นว่า ศรัทธาในพระพุทธศาสนาต้องมีปัญญากำกับด้วยเสมอ ซึ่งต่างจากศาสนาอื่นบางศาสนาที่จะสอนให้ศรัทธาอย่างเดียว คือ ถ้าพระคัมภีร์สอนไว้อย่างนี้ ก็จะต้องเชื่อตามโดยไม่มีข้อแม้ ถ้าหากไม่เชื่อถือว่าเป็นคนบาป แต่สำหรับพระพุทธศาสนา แม้แต่การสอนหลักธรรมของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ทรงบังคับให้เชื่อตามที่พระองค์สอน พระองค์ทรงแนะนำให้พิจารณาไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลและเห็นด้วยเสียก่อนแล้วจึงเชื่อ
การพัฒนาศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้อง
ศรัทธาในกระบวนการพัฒนาตามหลักพระพุทธศาสนานั้น หมายถึง ความเชื่อมั่น ความซาบซึ้ง ด้วยความมั่นใจในเหตุผลเท่าที่ตนสามารถพิจารณาเห็นได้ โดยมีเหตุผลว่า จุดหมายหรือเป้าหมายที่อยู่ข้างหน้านั้นเป็นไปได้จริงและมีคุณค่าควรที่จะไปให้ถึง ศรัทธาจึงเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่ปัญญาหรือความรู้ ซึ่งตรงข้ามกับศรัทธาที่เป็นแบบมอบตัว มอบความไว้วางใจให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยไม่คิดหาเหตุผล ศรัทธาที่ถูกต้องเป็นสื่อนำไปสู่การพัฒนาปัญญา แบ่งออกเป็น 4 ประการ คือ
1. ความเชื่อมั่นในศักยภาพในการเข้าถึงอิสรภาพที่แท้จริงของมนุษย์ ( ตถาคตโพธิสัทธา )
2. ความเชื่อมั่นในกฎการกระทำ ( กัมมสัทธา )
3. ความเชื่อมั่นในผลของการกระทำ ( วิปากสัทธา )
4. ความเชื่อมั่นว่ามนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและผลของการกระทำนั้น ( กัมมัสสกตาสัทธา )
ปัญญา หมายถึง ความรู้ หรือความหยั่งรู้เหตุผล ปัญญาที่ถูกต้องในกระบวนการพัฒนามีลักษณะ 3 ประการ คือ
1. ความรู้จักเหตุแห่งความเสื่อมและโทษของความเสื่อม ( อปายโกศล )
2. ความรู้จักเหตุแห่งความเจริญและประโยชน์ของความเจริญ ( อายโกศล )
3. ความรู้จักวิธีการละเหตุแห่งความเสื่อมและวิธีการสร้างเหตุแห่งความเจริญ ( อุปายโกศล )
จากการที่พระพุทธศาสนาเน้นการพัฒนาศรัทธาและปัญญาที่ถูกต้องดังกล่าวข้างต้น
พระพุทธศาสนาจึงได้ชื่อว่าเป็นศาสนาแห่งเหตุผล หรือเป็นศาสนาแห่งปัญญา ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใช้สติปัญญาความคิดเห็นของตนพิจารณาอย่างเต็มที่ก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น